top of page

ดวงตา

คืออวัยวะสำคัญ

      การมองเห็น                ถือเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่มีความสำคัญต่อมนุษย์เราเป็นอย่างยิ่ง และอวัยวะที่เป็นตัวรับภาพต่างๆ จากภายนอกให้เราได้รับรู้ก็คือดวงตา กลไกในการมองเห็นก็คือ เมื่อมีแสงตกกระทบกับวัตถุ แสงจะสะท้อนเข้าสู่นัยน์ตาเรา ผ่านกระจกตา รูม่านตา แก้วตา และไปตกที่จอรับภาพตาในลักษณะของภาพหัวกลับแล้วจึงถูกส่งไปแปลเป็นภาพที่เรามองเห็นจริงในระบบประสาทส่วนท้ายทอย

โรคตาที่ส่งผลต่อการมองเห็น
      ต้อกระจก คือ ภาวะที่กระจกตาหรือเลนส์ตาขุ่น ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ เป็นสาเหตุทำให้ความสามารถในการมองเห็น               ลดลง ต้อกระจกไม่ใช่โรคติดต่อ ต้อกระจกจะค่อยๆ ขุ่นไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นปีๆ และสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

สาเหตุของต้อกระจก
      ต้อกระจกโดยทั่วไปเกิดจากความเสื่อมตามอายุโดยเลนส์แก้วตาจะเริ่มขุ่นเมื่ออายุ 40 ปี กลไกการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีสมมติฐานว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในเนื้อเลนส์มีการเพิ่มขึ้นของโปรตีนชนิดที่ไม่ละลายน้ำ นอกจากนี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารอนุมูลอิสระตลอดจนเนื้อเลนส์เข้ามาอัดแน่นกันตรงกลาง ทำให้เลนส์แก้วตาแข็งและทึบแสงมากขึ้น พบว่าในคนที่มีอายุมากกว่า 70 ปีจะมีความผิดปกติ ของสายตาที่เกิดจากต้อกระจกมากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป ดังนั้นสรุปสาเหตุและปัจจัยส่งเสริมการเกิดโรคต้อกระจก คือ
      - ความเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามอายุซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
      - ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมันของมารดาระหว่างตั้งครรภ์
      - โรคภายในลูกตาเช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ ต้อหิน และได้รับอุบัติเหตุทางตา
      - ภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคขาดสารอาหาร
      - การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ทั้งยาหยอดตา ยาพ่น ยารับประทาน หรือยาฉีด
      - สภาวะแวดล้อมและการดำรงชีวิต เช่น การทำงานที่อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน การประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะโดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ที่ถูกต้องเป็นต้น

อาการของต้อกระจก
      - ตามัว มักเริ่มมัวอย่างช้าๆเหมือนมีหมอกหรือกระจกฝ้ามาบัง เมื่อออกไปกลางแดดจะมัวมากขึ้นแต่จะมองเห็น               ดีขึ้นในที่ร่มหรือในที่มีแสงสลัว อาการตามัวจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความขุ่นของเลนส์แก้วตา
      - มองเห็นภาพซ้อน เกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากันจึงทำให้การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาไม่รวมเป็นจุดเดียว
      - มองเห็นแสงไฟเป็นแสงกระจาย อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง
      - มองเห็นในระยะใกล้ดีขึ้น เปลี่ยนแว่นตาบ่อย หรือไม่ต้องใส่แว่นตาในระยะมองใกล้
      - ปวดตา หรือมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยในรายที่เป็นมากๆ

การรักษาต้อกระจก
      การรักษาต้อกระจกด้วยการใช้ยาหยอดตานั้นได้ผลไม่แน่นอนเท่ากับการผ่าตัด การผ่าตัดต้อกระจกทำได้โดยการนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่วิธีผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมี 2 วิธีคือ
      - การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง
      - การทำผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาออกทั้งก้อน

การดูแลสุขภาพดวงตา
      - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อุดมไปด้วยคุณค่าและช่วยบำรุงสุขภาพ ได้แก่อาหารประเภทโปรตีน เช่น ปลา ตับสัตว์ไข่นม และเนย เป็นต้น อาหารประเภทวิตามินที่ได้จากผักผลไม้ที่มีสารอนุมูลอิสระ มีวิตามินเอสูงเช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอสุก กล้วย เป็นต้น
      - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง
      - พักสายตาเป็นระยะเมื่อต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
      - จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมในระหว่างการทำงาน เช่น ระยะการมองพอดีแสงสว่างเพียงพอ
      - ผู้ที่ทำงานมีโอกาสเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของดวงตา ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อดวงตา
      - สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งท่ามกลางแสงแดดจ้าไม่จ้องมองดวงอาทิตย์โดยตรง
       - การใช้ยาหยอดตาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์
      - ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตา              อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(อ้างอิง : คณะกรรมการฐานข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)

สารอาหารจำเป็นสำหรับดวงตา

      - ลูทีน และซีแซนทีน (Lutein , Zeaxanthin) ลูทีนและซีแซนทีน สามารถลดความเสี่ยง หรือชะลอการเกิดต้อกระจกได้ โดยช่วยลดกลไกการเกิดความเสื่อมของโรคต้อกระจกโดยตรง และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากอนุมูลอิสระเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของการเกิดต้อกระจก มีการวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุต่าง ๆ พบว่ากลุ่มที่มีระดับของ ลูทีนและซีแซนทีน ในกระแสเลือดสูง จะมีความขุ่นของเลนส์ตาน้อยกว่า ซึ่งจากการวิจัยของจักษุแพทย์ และผู้วิจัยสรุปว่า ลูทีนและซีแซนทีน น่าจะลดการเกิดความเสื่อมของเลนส์ตาในผู้สูงอายุได้จริง ยังมีการวิจัยว่าการรับประทาน ลูทีนในปริมาณสูง เพิ่มความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกแล้ว การวิจัยที่ Harvard School of Public Health, Boston ในผู้ชาย 3,664 คน ที่ได้รับอาหารเสริมและวิตามินต่าง ๆ พบว่า กลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมเป็น ลูทีนและซีแซนทีน จะลดความเสื่อมของโรคต้อกระจกถึง 19 % และที่ University of Massachusetts ทำวิจัยในสุภาพสตรีถึง 50,461 คน พบว่า ลูทีนและซีแซนทีนจะลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจกถึง 22 % การวิจัยที่ University of Wisconsin-Madison Medical School ในผู้สูงอายุ 43-48 ปี จำนวน 1,354 คน พบว่าช่วยลดอุบัติการณ์ของต้อกระจกที่เกิดตรงกลางเลนส์ (Nuclearcataracts) ได้ถึง 50 % จากการวิจัยทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่ยอมรับว่าลูทีนและซีแซนทีน ลดอุบัติการณ์โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุได้จริง

      - สารสกัดจากดอกดาวเรือง (Marigold Extract) ให้สารสำคัญคือ ลูทีนซึ่งเป็นสารอาหารในกลุ่มที่เรียกว่าแซนโทฟิลส์ (xanthophylls) เป็นที่ทราบกันดีว่ามีประโยชน์ต่อดวงตา                ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกรองแสงหรือป้องกันรังสีที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา          นอกจากนี้ลูทีน(Lutein) ยังช่วยปกป้องไม่ให้เซลล์ของจอประสาทตา               ถูกทำลาย และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อกระจก (Cataracts) โรคกระจกตาเสื่อม (AMD) อีกด้วย

      - บิลเบอร์รี่ (Bilberry) บิลเบอร์รี่อุดมไปด้วยกลุ่มของสารสีน้ำเงินอมม่วงที่มีชื่อว่า แอนโธไซยาโนไซด์ (Anthocyanosides) จัดเป็นสารประเภทฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมาก (Potent Antioxidant) ซึ่งเชื่อว่าสารนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ใช้บำรุงสุขภาพดวงตา                ช่วยให้การมองเห็นในที่มืดดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ที่เป็นโรคตามัวตอนกลางคืน (Night Blindness) นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันจอประสาทตา (Retina) จากการถูกทำลายโดยกระบวนการออกซิเดชันที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ช่วยลดอนุมูลอิสระในจอตา และยังช่วยสร้างโรดอพซิน (Rhodopsin) ซึ่งเป็นสารสีที่พบในจอรับภาพในตา ดังนั้นจึงมีการใช้บิลเบอร์รี่เพื่อป้องกันอาการเสื่อมที่เกิดกับดวงตา   เช่น ต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

      - เควอซิทิน (Quercetin) มีผลช่วยลดความเสื่อมของดวงตา               และความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งสาเหตุหนึ่งในการเกิดต้อกระจกจากอนุมูลอิสระในดวงตามาจากการสะสมของ Hydrogen peroxide ซึ่งเป็นผลของ UVA และ UVB ซึ่งเควอซิทินมีผลในการระงับการเกิดอนุมูลอิสระนี้ได้

copyright @ 2016., Amsel Nutraceutical., Bangkok., Thailand

bottom of page